Monday, January 5, 2009

แนวคิดการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการ


ปรัชญาการเรียนรู้และการสอน

แล้วครูคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า ได้โปรดกล่าวแก่เราถึงการสอน และท่านพูดว่า “ไม่มีมนุษย์ใด อาจเปิดเผยสิ่งใดแก่เธอได้ นอกจากสิ่งที่นอนซบเซาอยู่ก่อนแล้ว ในรุ่งอรุณแห่งปัญญาของเธอเอง

ครูผู้เดินอยู่ใต้ร่มเงาโบสถ์ ในท่ามกลางสานุศิษย์ มิได้ให้ปัญญาของท่าน แต่ให้ความเชื่อมั่นและความรักแก่ศิษย์

ถ้าท่านเป็นปราชญ์อย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะไม่นำเธอก้าวล่วงเข้าสู่เคหาสนแห่งปัญญาของท่าน แต่จะนำเธอไปสู่ธรณีแห่งดวงจิตของเธอเอง

นักดาราศาสตร์ อาจกล่าวให้เธอฟังถึงความเข้าใจของเขาต่อท้องฟ้า แต่เขาก็ไม่อาจหยิบความเข้าใจอันนั้นให้แก่เธอได้

ปรัชญาการเรียนรู้และการสอน (ต่อ)
นักดนตรี อาจร้องทำนองเพลงทั้งหลาย อันมีอยู่ในห้วงเวหาให้เธอฟัง แต่เขาก็ไม่อาจให้โสตอันสดับจับทำนอง หรือ สำเนียงอันร้องสะท้อนรับทำนองนั้นแก่เธอได้

ผู้ชำนาญทางคณิตศาสตร์ อาจบอกเธอถึงมาตราการวัด และระบบการช่างวัดทั้ง หมดแก่เธอ แต่เขาก็ไม่อาจนำเธอก้าวเลยจากนั้น เพราะว่าการเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้แก่บุคคลอื่นขอยืมได้ และดังเช่นที่เธอแต่ละคนยืนโดดเดี่ยวอยู่ในปัญญาของพระเป็นเจ้า ก็จำเป็นที่เธอแต่ละคน จะต้องยืนอยู่เฉพาะตน ในขณะเมื่อมีปัญญาหยั่งรู้ถึงพระองค์ และในปัญญาหยั่งรู้พื้นพิภพ”

(จาก…คาลิล ยิบราน ปรัชญาชีวิต ถอดความโดย ระวี ภาวิไล อ้างโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ ในหนังสือ คู่มืออาจารย์ ด้านการเรียนการสอน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)

ปรัชญาการเรียนรู้และการสอน (ต่อ)
พระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น ในคนใดคนหนึ่งได้ ก็เพราะมีองค์ประกอบสองอย่างรวมกัน ได้แก่
๑ “โยนิโสมนสิการ” คือ องค์ประกอบภายในของตัวผู้เรียน เป็นส่วนที่ตัวผู้เรียนเกิดความกระหายที่จะเรียน และเกิดปัญญาไตร่ตรองหาเหตุผลใคร่ครวญ ในสิ่งที่พบเห็นมาให้ลึกซึ้ง จึงเกิด “การเรียนรู้”
๒ “ปรโตโฆษะ” คือ องค์ประกอบภายนอกของตัวผู้เรียน ได้แก่ส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบกายของผู้เรียน ที่ผู้เรียนสามารถได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ได้จับต้อง ซึ่งเมื่อมากระทบกับผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนใช้องค์ประกอบภายใน “โยนิโสมนสิการ” ใคร่ครวญไตร่ตรองแล้ว จึงเกิดการเรียนรู้ขึ้น

(อ้างโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ ในหนังสือ คู่มืออาจารย์ ด้านการเรียนการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คำถาม?
การเรียนรู้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล?
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะตัวผู้เรียนเอง?

หน้าที่ครู คือ จัด"สิ่งแวดล้อม" (ข้อมูลที่จะให้เรียนรู้ จัดสถานที่ อุปกรณ์ การกระตุ้นให้เกิดกำลังใจในการเรียน เช่น ให้รางวัล หรือ ลงโทษ เป็นต้น) หรือจัดสาระและประสบการณ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนเองเท่านั้น?

ทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียน เรียนได้ด้วยตนเอง?
อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้เรียนอยากเรียน?

แรงจูงใจในการเรียนรู้

เชื่อกันว่า? เป็นกระบวนการ มีอยู่แล้วในทุกผู้เรียน พร้อมที่จะทวีพลัง เมื่อมีการกระตุ้นจากภายนอก เพราะแรงจูงใจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “ความต้องการ” ของทุกผู้เรียน (Maslow’s physiological, safety, love& self-belongingness, esteems, self-actualization needs)

ด้วยสมมุติฐานที่ว่า...?

ครูไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการแรงจูงใจของผู้เรียนได้ เพราะมีอยู่แล้วในตัวผู้เรียนโดยธรรมชาติ แต่ครูจะเป็นผู้แสวงหา หรือส่งเสริม เป็นแรงกระตุ้นภายนอก เพื่อให้ผู้เรียนทวีพลังแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น?
การเรียนรู้ในตัวผู้เรียนไม่เกิดขึ้น เพราะกระบวนการแรงจูงใจสงบนิ่ง หรือไม่ได้รับการกระตุ้นที่เพียงพอ?

เทคนิคการกระตุ้นให้ทวีแรงจูงใจ
จากการเสนอแนะโดยนักจิตวิทยาทางการศึกษา คือ
๑ การให้รางวัล
๒ การทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ
๓ การให้คำยกย่องชมเชย (และตำหนิ)
๔ การแข่งขันและการให้ความร่วมมือ
๕ การทำให้ผู้เรียนทราบความก้าวหน้าในการเรียนของตน
๖ การทำให้ผู้เรียนพบประสบการณ์และความรู้ใหม่

องค์ประกอบของการกระตุ้นแรงจูงใจ

๑. อารมณ์ของผู้เรียนกับการเรียนรู้
อารมณ์ที่เพิ่มการเรียนรู้ คือ อารมณ์รักหรือชอบ (affection) กรุณา (empathy) ความสุข (pleasure) ขัน (humor) และอารมณ์ที่ทำให้ เกิดความปลอดภัย (safety or security)
อารมณ์ที่บั่นทอนการเรียนรู้ คือ กังวล (anxiety) กลัว (fear) ก้าวร้าว (agression) โกรธ (anger) สิ้นหวัง (hopeless) เป็นต้น

องค์ประกอบของการกระตุ้นแรงจูงใจ (ต่อ)

๒. การจดจำและการลืม
นักจิตวิทยาการศึกษา ยอมรับตรงกัน ๓ ประการ คือ
๑. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและจดจำนาน เมื่อสิ่งที่เรียน มีความหมาย เป็นเรื่อง เป็นราว มีความต่อเนื่องกัน และเกี่ยวข้องกับ สาระสำคัญของแขนงวิชาที่ศึกษาชัดเจน
๒. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและจดจำนาน เมื่อสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวข้อง กับประสบการณ์ ของผู้เรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน หรือ กับอาชีพในอนาคตได้ และการทดสอบความรู้ ต้องไม่อาศัยการจดจำเป็นสำคัญ
๓. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและจดจำนาน เมื่อมีการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนบ่อยครั้ง โดย ให้เกิดความตระหนักในการทบทวนโดยผู้เรียนเอง เช่น การตั้งแบบทดสอบ เพื่อให้ เกิดการนำสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ไปใช้ในการแก้ปัญหาของแบบทดสอบดังกล่าว เป็นต้น

“ถ้าท่านให้ปลาแก่เขา เขาจะกินหมดภายในวันเดียว ถ้าท่านให้วิธีการตกปลาแก่เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต” (จากสุภาษิตจีนบทหนึ่ง)

การนำความรู้ไปปฏิบัติ (transfer of learning)
สิ่งที่เรียนรู้ หากไม่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพจริงได้ ความรู้นั้น ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

นักจิตวิทยา (Jerome Bruner) เสนอว่า หลักการหรือแก่นแท้ของวิชาความรู้ในทุกแขนงวิชาใด กับวิธีการในการเรียนรู้ ที่ครูสอน จะต้องส่งเสริมความสามารถ ที่จะถ่ายทอดต่อไป เพื่อแก้ปัญหาชีวิต หรือ เพื่อการประกอบอาชีพจริงของผู้เรียนเท่านั้น

ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจในหลักการ และความคิดในวิชาความรู้ใดๆก็ตาม เพื่อก่อให้เกิดหนทาง ของการนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติได้
การเรียนรู้หรือถ่ายทอด จะต้องทำให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ได้ในที่สุดนั่นเอง

หลักการสอน (ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน)


ท่านเชื่อหรือไม่?

๑. การเรียนรู้เป็นเรื่องของผู้เรียน
๒. การเรียนรู้จะเกิดได้ดี เมื่อเรียนจากสิ่งที่มีความหมาย (ต่อตัวผู้เรียน)
๓. การเรียนรู้จะเกิดได้ดี เมื่อเรียนจากสิ่งที่มีเป้าหมายชัดเจนและสามารถบรรลุผลได้
๔. การเรียนรู้จะเกิดได้ดี เมื่อเรียนควบคู่ไปกับการยอมรับข้อติชมจากผู้อื่น
๕. การเรียนรู้จะเกิดได้ดี เมื่อผู้เรียนมีปฎิสัมพันธ์ดีต่อผู้สอนและสมาชิกอื่น

(อ้างโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ ในหนังสือ คู่มืออาจารย์ ด้านการเรียนการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การสอนแบบปฏิบัติการ


มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านทักษะ (psychomotor domain) กล่าวคือ เพื่อเน้นให้เกิดการเรียนรู้โดย การสังเกต (ด้วยระบบ ประสาททั้งห้า) เช่น ทักษะในการวินิจฉัยโรค และทักษะที่เกิดจากการใช้อวัยวะทางกายภาพ (sensory motor) เช่น การรู้จักใช้เครื่องมือกลต่างๆ
๒. เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านพุทธิปัญญา (cognitive domain) และ ด้านทัศนคตินิยมและค่านิยม (affective domain) เช่น การออกแบบงานสถาปัตยกรรม โดยผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ด้านการสังเกต การรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินคุณค่า อย่างมีเหตุผล การร่วมมือทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกทักษะ การจัดทำแบบจำลองความคิด เพื่อนำเสนอผลสรุปการแก้ปัญหาต่างๆ ฯลฯ

วิธีการสอนปฏิบัติการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีลักษณะการสอน ๔ แบบ คือ

๑. การสอนแบบปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการ
๒. การสอนปฏิบัติการแบบ “โครงการ” (project)
๓. การสอนแบบปฏิบัติการนอกสถานที่ หรือการฝึกภาคสนาม
๔. การสอนปฏิบัติการแบบสาธิต

(อ้างโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม วราวิทย์ และ รองศาสตราจารย์ สมคิด แก้วสนธิ
ในหนังสือ คู่มืออาจารย์ ด้านการเรียนการสอน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)

หมายเหตุ... ภาควิชาสถาปัตยกรรม น่าจะเกี่ยวข้องกับ ๒ และ ๓ เป็นสำคัญ ในลักษณะ ๒ เกี่ยวกับวิชาออกแบบอาคารต่างๆ (project design) โดยตรง ในลักษณะ ๓ เกี่ยวข้องกับการสำรวจสถานที่ก่อสร้าง ในส่วนของการออกแบบอาคารนั้นๆ

การสอนปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม


เป็นการสอนลักษณะปฏิบัติการแบบ “โครงการ” (project design) เป็นสำคัญ
ปัจจุบันมีการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนดังนี้

๑. มีการสำรวจสถานที่ก่อสร้างของโครงการ รวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง
๒. ศึกษากรณีตัวอย่างเปรียบเทียบ
๓. การวิเคราะห์ข้อกำหนดเบื้องต้นของ โครงการ การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นสำหรับโครงการทั้งหมด
๔. สังเคราะห์นำเสนอแนวความคิดตามขั้นตอนต่างๆ จากสมมุติฐานหรือแนวความคิด (concept) คร่าวๆ จนถึงขั้นรายละเอียด นำเสนอในรูปการจัดทำแบบจำลอง เพื่อการวินิจฉัยร่วมระหว่าง ผู้เรียน ผู้สอน และผู้อื่นในกลุ่ม
๕. พัฒนาความคิด โดยใช้ข้อมูลจากผู้สอนและของผู้เรียน ที่รวบรวมไว้เบื้องต้น ใช้ในการประเมินคุณค่าในแต่ละขั้นตอนการออกแบบ เพื่อการปรับปรุงและแก้ไข
๖. ดำเนินการขั้นตอนสุดท้าย สรุปผลการออกแบบ เป็นแบบการจำลองตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมการชี้แจงขบวนการออกแบบประกอบ เพื่อเสนอต่อผู้สอน หรือ กลุ่มผู้สอนอื่น
๗. การประเมินผลสุดท้าย ของการปฏิบัติการเรียนรู้การออกแบบ ในแต่ละโครงการ โดยผู้สอน หรือกลุ่มผู้สอน

ข้อเสนอแนะ? การเรียนรู้การปฏิบัติการออกแบบ
๑. ควรจัด”โครงการ” เป็นเสมือน “การวิจัยขนาดย่อม” เสริมการเรียนรู้ระเบียบวิธีวิจัยที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติม
๒. เน้นการออกแบบที่เป็นระบบ มีระเบียบวิธี เป็นขั้นตอน ที่สามารถตรวจสอบได้ในบางกรณี เช่น การกำหนดปัญหาการออกแบบที่ชัดเจน หรือกำหนดสมมุติฐาน เป็นแนวความคิด (concepts) ที่มีข้อมูลสนับสนุน ได้มากที่สุดเท่าทีจะทำได้ รวมทั้งการเพิ่มทักษะการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ
๓. การเรียนรู้ ควรเน้นขบวนการออกแบบ (design process) ควบคู่กับผลผลิตการออกแบบ (design product) ในการประเมินคุณค่าการเรียนรู้การปฏิบัติการ
๔. เพื่อขจัดการลอกเลียนแบบผู้อื่น การเรียนรู้ควรเน้น การกำหนดปัญหา (problem seeking) และการแก้ปัญหา (problem solving) เป็นสำคัญ กล่าวคือ เน้นวิธีการเรียน และการสอนการออกแบบ เป็น problem oriented methods มากกว่า solution oriented methods
๕. การแปรสภาพปัญหาการออกแบบ เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรม (architectural language) ต้องอาศัย ทักษะการสังเกต หรือการประยุกต์ใช้ ของความรู้จากวิชาประกอบ อื่น รวมทั้งการชี้แนะที่สำคัญของผู้สอนวิชาปฏิบัติการด้วย
๖. นอกเหนือที่ผู้สอนวิจารณ์หรือติชมแล้ว จำเป็นต้องเสนอ “แนวทาง” (directions guidance) เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น
๗. ควรมีการสรุปการดำเนินการการเรียนรู้ในโครงการออกแบบที่แล้วมา (learning feedback) เพื่อเข้าใจปัญหา หรืออุปสรรค ที่เกิดขึ้นในแต่ละผู้เรียน ซึ่งจะเป็นแนวทางการปรับปรุงของผู้เรียนเอง และของผู้สอนสำหรับการปรับประสบการณ์การเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละบุคคลยิ่งขึ้นต่อไป
๘. เน้นการใช้สื่อแสดงความคิดในการออกแบบ ตามทักษะที่เหมาะสมกับผู้เรียน ในแต่ละบุคคล หรือ ส่งเสริมการเพิ่มทักษะการใช้สื่อที่หลากหลายชนิดและวิธีการ
๙. ควรจัดให้มีโครงการการออกแบบร่วมกันกับกลุ่มผู้เรียนอื่น ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม โดยมีแผนการปฏิบัติการอย่างมีระบบของผู้สอน หรือ กลุ่มผู้สอน กำหนดล่วงหน้าไว้ชัดเจน
๑๐. เนื่องจากการประเมินผลงานออกแบบ ไม่ใช่เรื่อง ถูก หรือ ผิด เหมือนวิชาทางสาขาคณิตศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของความพอใจ หรือ ไม่พอใจ ฉะนั้น จึงควรจำกัดคุณค่าผลงานในระดับความถี่น้อย ดังเช่น พอใจมาก (exceptional) จัดอยู่ในเกรด A พอใจ (satisfactory) จัดอยู่ในเกรด B ต้องปรับปรุงอีก (incomplete) จัดอยู่ในเกรด C (หลังการปรับปรุงแล้ว) ไม่พอใจ (no-satisfactory) จัดอยู่ในเกรด Fเป็นต้น

คำถาม?


เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ผู้เรียนหรือกลุ่มของผู้เรียนด้วยกัน มีส่วนร่วมในการประเมินผลงานปฏิบัติการขั้นสุดท้ายของทุกผู้เรียน?















ข้อสรุปส่งท้าย…


“การเรียนรู้ การสอน หรือการทำงานใด
ต้องกระทำอย่างมีความสุข” (ท่านพุทธทาสฯ)

“Learning with Joy” (Louis I. Kahn)


















No comments: